พีระพันธุ์ ไม่แผ่ว! จี้ติดตามข้อมูลผู้ค้าน้ำมัน ย้ำต้องแยกต้นทุนการผลิตน้ำมันออกจากต้นทุนการบริหารจัดการอย่างชัดเจน พร้อมดันไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก IEA หนุนเกณฑ์สำรองน้ำมัน 90 วัน

62 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พีระพันธุ์ ไม่แผ่ว! จี้ติดตามข้อมูลผู้ค้าน้ำมัน ย้ำต้องแยกต้นทุนการผลิตน้ำมันออกจากต้นทุนการบริหารจัดการอย่างชัดเจน พร้อมดันไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก IEA หนุนเกณฑ์สำรองน้ำมัน 90 วัน

‘พีระพันธุ์’ ไม่แผ่ว! จี้ติดตามข้อมูลผู้ค้าน้ำมัน ย้ำต้องแยกต้นทุนการผลิตน้ำมันออกจากต้นทุนการบริหารจัดการอย่างชัดเจน พร้อมดันไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก IEA หนุนเกณฑ์สำรองน้ำมัน 90 วัน
.
วันนี้ (7 พฤษภาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ ครั้งที่ 13/2567 โดยที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมกันพิจารณาร่างแนวทางการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงและรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาของประเทศไทย หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve)
.
นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ยังได้สอบถามและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ติดตามข้อมูล “ต้นทุนน้ำมัน” ที่ผู้ประกอบการจะต้องแจ้งให้กรมธุรกิจพลังงานทราบตามประกาศของกระทรวงพลังงานก่อนหน้านี้ และย้ำว่าผู้ประกอบการต้องแยกต้นทุนการผลิตน้ำมันออกจากต้นทุนการบริหารจัดการอย่างชัดเจน รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาราคาต้นทุนเฉลี่ยของโรงกลั่นโดยเปรียบเทียบจากทั่วโลก เพื่อเป็นมาตรฐานในการคำนวณต้นทุนการผลิตน้ำมันของโรงกลั่น ก่อนที่จะเข้าสู่ระบบขายปลีกด้วย
.
ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาผลการศึกษาเปรียบเทียบโครงสร้างราคาน้ำมัน รวมทั้งข้อมูลด้านกฎหมายพลังงานของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตลอดจนเงื่อนไขการเข้าร่วมเป็นสมาชิกทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA (International Energy Agency) ซึ่งเป็นองค์กรด้านพลังงานภายใต้กรอบองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2517 หลังจากเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันของโลก
.
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ยื่นความประสงค์เข้าร่วมเป็นสมาชิก IEA เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2567 ซึ่งจะมีขั้นตอนการพิจารณาอีกหลายปี และไทยต้องมีความสามารถในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ IEA โดยเฉพาะการสำรองน้ำมัน 90 วัน ซึ่งรัฐบาลต้องสามารถเข้าถึงได้ทันที และต้องสามารถนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการหยุดชะงักของอุปทานน้ำมันทั่วโลกได้
.
การเข้าเป็นสมาชิก IEA จะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์หลายประการ อาทิ การเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางสถิติและบทวิเคราะห์ด้านพลังงาน การมีส่วนร่วมในการประชุมสัมมนาระดับนานาชาติในประเด็นสำคัญด้านพลังงาน การแสดงวิสัยทัศน์และบทบาทของไทยในเวทีด้านพลังงานโลก การขอข้อมูลและปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านของ IEA การขอรับการสนับสนุนโครงการ ข้อริเริ่ม/การศึกษาตามที่ไทยสนใจ ไปจนถึงการทบทวนนโยบายด้านพลังงานเชิงลึกให้กับไทยด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้