การต่อสู้คดีมหากาพย์ ‘ค่าโง่’ โฮปเวลล์

‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ถือเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการปกป้องเงินภาษีของประชาชนหลายหมื่นล้านบาท จากการนำทีมต่อสู้คดี “ค่าโง่” โฮปเวลล์  หรือ โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร  ที่เริ่มต้นโครงการตั้งแต่ปี 2533 แต่มีปัญหาสร้างไม่เสร็จ และถูกเอกชนฟ้องร้องเรียกเสียหายจำนวนมหาศาลจากการยกเลิกสัมปทาน แถมรัฐบาลยังแพ้คดีทั้งในชั้นอนุญาโตตุลาการเมื่อปี 2551 และในชั้นศาลปกครองสูงสุดเมื่อปี 2562  ซึ่งทำให้รัฐบาลมีภาระที่จะต้องนำเงินภาษีไปจ่ายให้กับบริษัทโฮปเวลล์รวม  2.4 หมื่นล้านบาท และเป็นตำนาน ‘ค่าโง่’ ที่อาจทำให้คนไทยต้องเสียเงินค่าภาษีหลายหมื่นล้านบาทกับโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์

‘พีระพันธุ์’ ได้ติดตามศึกษาคดีมหากาพย์โฮปเวลล์อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2562  หลังจากที่ได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ตัดสินว่าคดีนี้ไม่ขาดอายุความ  แต่ก่อนหน้านั้น ศาลปกครองกลางที่เป็นศาลชั้นต้นของศาลปกครองเคยมีคำตัดสินคดีเดียวกันนี้ว่า คดีโฮปเวลล์ขาดอายุความ

หลักกฎหมายเรื่อง “อายุความ” นี้เป็นจุดสนใจให้ ‘พีระพันธุ์’ ทำการสืบค้นเพิ่มเติมและพบว่า ศาลปกครองกลางได้เคยวินิจฉัยบนพื้นฐานของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ ที่บัญญัติไว้ว่า"การนับอายุความ" ให้นับตั้งแต่วันที่รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี โดยไม่ได้มีบทเฉพาะกาลยกเว้นไว้ว่า คดีนั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังเปิดทำการศาลปกครอง แต่ปรากฏว่า ศาลปกครองสูงสุดใช้ “มติของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด” เป็นหลักในการตัดสินว่า คดีที่เกิดขึ้นก่อนศาลปกครองเปิดทำการ ให้นับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ จึงส่งผลให้คดีโฮปเวลล์ยังไม่ขาดอายุความตามกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ‘พีระพันธุ์’ มีความเห็นต่างในเรื่องนี้โดยชี้ว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ศาลทุกศาล รวมถึงศาลปกครอง ต้องตัดสินตามกฎหมายเท่านั้น แต่หากเห็นว่ากฎหมายที่มีอยู่ยังไม่ครอบคลุมในประเด็นปัญหาสำหรับคดีที่เกิดขึ้นก่อน ก็ต้องไปให้รัฐสภาดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว ไม่สามารถใช้ "มติที่ประชุมใหญ่" เป็นหลักในการตัดสินได้เพราะขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ

จากนั้น ‘พีระพันธุ์’ ได้เข้ามามีบทบาทหลักในการต่อสู้คดีนี้ ตั้งแต่ในชั้นสภาผู้แทนราษฎร  ผู้ตรวจการแผ่นดิน  ศาลรัฐธรรมนูญ จนถึงศาลปกครองสูงสุด ในฐานะหัวหน้าทีมสืบค้นพยานหลักฐานต่างๆ และข้อพิรุธในการทำสัญญาคดีโฮปเวลล์ อีกทั้งยังเป็นผู้ยกร่างคำร้องต่าง ๆ ด้วยตนเอง เพื่อขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่และขอให้งดการบังคับคดี

ถึงแม้ในเบื้องต้น ศาลปกครองชั้นต้นจะยกคำร้องไม่ให้มีการพิจารณาคดีใหม่  แต่ ‘พีระพันธุ์’ และคณะทำงานก็ไม่ย่อท้อและขออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง จนในที่สุด ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ให้พิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่ และต่อมาในวันที่ 14 มีนาคม 2565 ศาลปกครองกลางก็ได้มีคำสั่งงดการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดคดีโฮปเวลล์ ทำให้กระบวนการบังคับคดีที่เคยให้ภาครัฐต้องจ่ายเงินให้แก่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี รวม 25,711 ล้านบาท ต้องหยุดพักไว้ก่อน จนกว่าการพิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่จะได้ข้อยุติ

‘พีระพันธุ์’ บันทึกความสำเร็จของการต่อสู้คดีนี้ไว้ในเพจส่วนตัวว่า “วันนี้พอมาถึงปลายอุโมงค์ แสงที่ว่าพอมองเห็นมันกลายเป็นแสงสว่างที่เจิดจ้าสำหรับคนไทยที่รักบ้านรักเมืองรักษาพลประโยชน์ชาติอย่างทั่วถึง คิดถึงวันนี้รวมดอกเบี้ยคร่าว ๆ ก็น่าจะราว ๆ สามหมื่นล้านเป็นอย่างน้อยที่เราช่วยกันปกป้องไว้ครับ”

ผลคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 4 มีนาคม 2565 ทำให้คำพิพากษาเดิมของคดีโฮปเวลล์ถูกระงับไว้เพื่อให้กลับไปเริ่มต้นพิจารณาคดีกันใหม่ ที่ศาลปกครองกลาง

‘พีระพันธุ์’ มั่นใจว่าถ้าเอาหลักกฎหมายแท้ๆ เอาทฤษฎีกฎหมายแท้ ๆ มาพิจารณา การต่อสู้คดีนี้ภาครัฐต้องชนะอย่างแน่นอนในมุมของข้อกฎหมาย

"การสู้คดีตอนนี้ก็เหลือประเด็นหลักอยู่ประเด็นเดียวคือว่า คดีขาดอายุความหรือยัง เพราะถ้าขาดอายุความ มันก็จบ เพราะหากคดีขาดอายุความ ก็คือฟ้องไม่ได้ เรื่องนี้ก็เป็นข้อต่อสู้หลัก"

ต่อมา ศาลปกครองกลางได้ดำเนินการพิจารณาคดีใหม่ และมีคำตัดสินเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ชดใช้ค่าเสียหายแก่ บริษัทโฮปเวลล์ฯ เนื่องจากการใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทดังกล่าวขาดอายุความตามกฎหมาย

ท้ายที่สุด การต่อสู้อย่างมุ่งมั่นไม่ย่อท้อของ ‘พีระพันธุ์’ และทีมงาน ก็สามารถช่วยปกป้องผลประโยชน์ของชาติและรักษาเงินภาษีของประชาชนไว้ได้อย่างถึงที่สุด!

ลำดับเหตุการณ์สำคัญ 'คดีโฮปเวลล์'

  • โครงการ Hopewell  เป็นโครงการก่อสร้างระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่าง บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และรัฐบาลไทย  เริ่มต้นโครงการในช่วงปลายปี 2533 โดยเอกชนจะได้รับสัมปทาน 30 ปี

  • ต่อมา รัฐบาลได้ขอยกเลิกสัญญาสัมปทานเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2541 เพราะการก่อสร้างไม่คืบหน้า เนื่องจากปัญหาการเวนคืนที่ดินล่าช้าและปัญหาทางการเงินของ บ.โฮปเวลล์ฯ เอง

  • บ.โฮปเวลล์ฯ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายรัฐบาลไทย จนกลายเป็น ‘มหากาพย์ค่าโง่’ เพราะในสัญญาสัมปทานนั้นกำหนดให้เอกชนยกเลิกสัญญาได้  แต่รัฐบาลไทยยกเลิกสัญญาไม่ได้!

  • รัฐบาลไทยแพ้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการเมื่อปี 2551  และแพ้คดีในชั้นศาลปกครองสูงสุดในปี 2562  โดยมีภาระต้องนำเงินภาษีไปจ่าย ‘ค่าโง่’ ให้กับ บ.โฮปเวลล์ฯ กว่า 24,000 ล้านบาท

  • หลักกฎหมายเรื่อง ‘อายุความ’ มีความเกี่ยวข้องที่สำคัญในการต่อสู้คดีนี้ เพราะการยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการ หากไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้เฉพาะ จะต้องทำ ‘ใน 5 ปี’ นับแต่วันที่มีการโต้แย้งสัญญา แต่ บ.โฮปเวลล์ฯ กลับยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 หลังได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาถึง 6 ปีกับ 10 เดือนเศษ จึงเกิดข้อต่อสู้ที่ว่า คดีนี้น่าจะเลยกำหนดระยะเวลา หรือหมด ‘อายุความ’ หรือไม่?

  • แต่อย่างไรก็ดี ศาลปกครองสูงสุดได้ใช้ “มติของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด” ตัดสินว่า คดีที่เกิดขึ้นก่อนศาลปกครองเปิดทำการ ให้นับอายุความตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ จึงส่งผลให้คดีโฮปเวลล์ยังไม่ขาดอายุความตามกฎหมาย ทำให้ข้อต่อสู้นี้ถูกตีตกไป จนรัฐบาลแพ้คดีในท้ายที่สุด

  • พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้ติดตามศึกษาคดีมหากาพย์โฮปเวลล์อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2562  หลังจากศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่าคดีนี้ไม่ขาดอายุความ  โดยเขาได้หยิบยกประเด็นกฎหมายที่กลายเป็นจุดพลิกผันของคดีนี้ว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ศาลทุกศาล รวมถึงศาลปกครอง ต้องตัดสินตามกฎหมายเท่านั้น แต่หากเห็นว่ากฎหมายที่มีอยู่ยังไม่ครอบคลุมในประเด็นปัญหาสำหรับคดีที่เกิดขึ้นก่อน ก็ต้องไปให้รัฐสภาดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว ไม่สามารถใช้ "มติที่ประชุมใหญ่" เป็นหลักในการตัดสินได้ เพราะขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ!

  • จากนั้น ‘พีระพันธุ์’ ได้เข้ามามีบทบาทหลักในการต่อสู้คดีนี้ ตั้งแต่ในชั้นสภาผู้แทนราษฎร  ผู้ตรวจการแผ่นดิน  ศาลรัฐธรรมนูญ จนถึงศาลปกครองสูงสุด ในฐานะหัวหน้าทีมสืบค้นพยานหลักฐานต่างๆ และข้อพิรุธในการทำสัญญาคดีโฮปเวลล์ อีกทั้งยังเป็นผู้ยกร่างคำร้องต่าง ๆ ด้วยตนเอง เพื่อขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่และขอให้งดการบังคับคดี

  • ถึงแม้ศาลปกครองชั้นต้นจะเคยยกคำร้องไม่ให้มีการพิจารณาคดีใหม่  แต่ ‘พีระพันธุ์’ และคณะทำงานก็ไม่ย่อท้อและขออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง

  • ในที่สุด ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ให้พิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่ และต่อมา ในวันที่ 14 มีนาคม 2565 ศาลปกครองกลางก็ได้มีคำสั่งงดการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดคดีโฮปเวลล์ ทำให้กระบวนการบังคับคดีที่เคยให้ภาครัฐต้องจ่ายเงินให้แก่ บ.โฮปเวลล์ฯ พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี รวม 25,711 ล้านบาท ต้องหยุดพักไว้ก่อน 

  • ศาลปกครองกลางได้พิจารณาคดีใหม่ และมีคำตัดสินเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ชดใช้ค่าเสียหายแก่ บริษัทโฮปเวลล์ฯ เนื่องจากการใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทดังกล่าวขาดอายุความตามกฎหมาย
image
image
image
image
image
image
image
image
image
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้