ย้อนรอยความสำเร็จการเยียวยาซื้อเรือประมงทำปะการังเทียม

206 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ย้อนรอยความสำเร็จการเยียวยาซื้อเรือประมงทำปะการังเทียม

หลังจากรอคอยมานาน ในที่สุด ชาวประมงจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้เฮ เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติเงินจำนวน 163.36 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 งบกลาง ในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายช่วยเหลือเยียวยาซื้อเรือประมงในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ในโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน โดยจะจ่ายเงินให้เรือที่เข้าร่วมโครงการชุดแรกจำนวน 96 ลำ และใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการกิจการประมงและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการประมงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงด้วย

จึงถือเป็นข่าวดีรับต้นปีของชาวประมงภาคใต้ ที่ครั้งนี้มั่นใจได้ว่าจะได้รับเงินเยียวยาจากการดำเนินโครงการนี้กันเสียที หลังจากพยายามเรียกร้องมากกว่า 3 ปี

สำหรับความเป็นมาเกี่ยวกับความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงใน จ.ปัตตานี คงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2563 เมื่อสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ ยังคงส่งผลกระทบในการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกสาขาอาชีพ รวมถึงกลุ่มประมงในพื้นที่ ประกอบกับการที่จะต้องดำเนินการตาม IUU Fishing เพื่อให้เป็นไปหลักสากลของการทำการประมงที่กลายเป็นข้อจำกัดในการออกเรือหาปลาตามวิถีชีวิตดั้งเดิม ทำให้ชาวประมงทั้งรายเล็กรายใหญ่ประสบปัญหาจนไม่สามารถประกอบอาชีพประมงได้อีกต่อไปสร้างความเดือดร้อนอย่างหนัก

ในที่สุดสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี ซึ่งถือเป็นองค์กรหลักของผู้ประกอบการประมงในพื้นที่จึงพยายามหาทางออกช่วยเหลือชาวประมง โดยได้เสนอโครงการนำเรือออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน และนำเรือมาจัดทำกองปะการังเทียมใต้ท้องทะเลในพื้นที่ชายฝั่งทะเลจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมา มีเรือประมงเข้าร่วมโครงการจำนวน 104 ลำ ด้วยความหวังว่า โครงการนี้จะช่วยให้ชาวประมงได้มีอาชีพใหม่ และยังจะทำให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นอีกด้วย

โครงการดังกล่าวได้ถูกเสนอไปยังคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ต่อมาก็ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินโครงการ พร้อมให้ใช้งบกลาง พ.ศ.2564 และให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้รับผิดชอบ และดำเนินการตามขั้นตอนมาตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม แม้จะระบุว่าเป็นการดำเนินโครงการกรณีเร่งด่วน แต่กลับปรากฏว่า มีขั้นตอนทำให้การจ่ายเงินเยียวยาต้องล่าช้าออกไป เพราะตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในปี 2563 จนกระทั่งถึง ปลายปี 2565 กลับไม่มีความคืบหน้าการดำเนินโครงการแต่อย่างใด จากหนังสือร้องเรียนของสมาคมการประมง จ.ปัตตานี ระบุว่า ในการดำเนินการถือเป็นการขับเคลื่อนโครงการที่ได้ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะเกิดความล่าช้า ซ้ำซ้อนวนเวียน ในการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง เหมือนการเดินทางวนอยู่กับที่ และย้อนกลับมาสู่จุดเดิมเกือบทุกครั้ง แต่เมื่อร้องเรียนทวงถาม ก็ไม่ได้รับคำตอบเกี่ยวกับความคืบหน้าเลยสักครั้งจนเวลาล่วงเลยมากกว่า 3 ปี เปรียบเสมือนการมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

กระทั่งเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา สมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี ได้ตัดสินใจทำหนังสือร้องเรียนถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และได้รับมอบหมายจาก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีให้เข้ามาสะสางและติดตามเร่งรัดการแก้ปัญหาให้กับประชาชนที่ส่งเรื่องร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีอยู่จำนวนมาก โดยเรื่องความเดือดร้อนของชาวประมง เป็นหนึ่งในความเดือดร้อนของประชาชนที่ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้เร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน และปัญหาของสมาคมการประมงของ จ.ปัตตานี ก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่นายกรัฐมนตรีให้ความห่วงใย และกำชับให้เร่งคลี่คลายความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วน

นัดแรกของการประชุม นายพีระพันธุ์ ได้เชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมประมง, กรมเจ้าท่า, กรมบัญชีกลาง และ สำนักงบประมาณ มาร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยได้สอบถามสอบสวนหาข้อเท็จจริง และสาเหตุความล่าช้าอย่างละเอียด กระทั่งทราบว่า สาเหตุเกิดจากยังติดปัญหาเรื่องระเบียบการจ่ายเงินเยียวยาที่มีส่วนหนึ่งจะต้องชดเชยเพิ่มเติมจากราคาประเมินเดิม รวมทั้งปัญหาการประเมินราคาเรือที่ยังไม่สามารถสรุปได้



โดยในการประชุมครั้งนั้น นายพีระพันธุ์ ได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปเร่งออกระเบียบเพื่อให้สามารถดำเนินการจ่ายค่าเยียวยาเพิ่มเติมได้อย่างถูกต้องให้ได้ภายใน 10 วัน และยังคงติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด พร้อมกันนี้ยังได้มอบหมายให้ ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ และทีมงานประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการจัดทำเอกสารตามขั้นตอน ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ตามดำริของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” โดยได้มีการประสานตามขั้นตอนทั้งในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งศอ.บต. กรมบัญชีกลาง กระทั่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) สามารถนำเรื่องเสนอประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา


ในที่สุดเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 คณะรัฐมนตรี ก็ได้อนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาซื้อเรือประมงในพื้นที่จังหวัดปัตตานีดังกล่าว แม้จะเป็นการอนุมัติเงินให้กับเรือประมงรอบแรก 96 ลำ จาก 104 ลำ แต่ก็ถือว่าเป็นความคืบหน้าที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายใต้การทำงานของคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ ที่มีนายพีระพันธุ์ เป็นประธาน ซึ่งหากนับจากวันเริ่มประชุมแก้ไขปัญหาจนสามารถนำเรื่องเข้าประชุมในครม. จนได้รับอนุมัติ ใช้เวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น



“หลังจากได้รับหนังสือร้องเรียน ผมได้นำความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยตรง ซึ่งนายกฯ เองก็มีความห่วงใย พร้อมสอบถามปัญหาว่า มีสาเหตุการติดขัดที่ตรงไหนเพราะเข้าใจว่าทุกคนต้องทำมาหากิน และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการ ทั้งยังมอบหมายให้ผมติดตามดูแลใกล้ชิดเพื่อให้ปัญหาของประชาชนได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว” นายพีระพันธุ์กล่าว ในระหว่างที่กลุ่มผู้ประกอบการประมงภาคใต้ ได้เดินทางเพื่อแสดงความขอบคุณหลังทราบผลมติ ครม.



ความสำเร็จในการช่วยเหลือให้พี่น้องชาวประมงภาคใต้ได้รับเงินเยียวยาตามโครงการฯ นับเป็นหนึ่งในความสำเร็จในการคลี่คลายปัญหาให้กับประชาชนอีกจำนวนมาก ที่ไม่เพียงจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็วตามความตั้งใจของนายกฯ แล้ว ยังเป็นการยืนยันถึงความตั้งใจในการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และขุนพลคู่ใจอย่าง “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่พร้อมทำงานเคียงข้างอย่างใกล้ชิด

ด้วยความมุ่งหมายสำคัญคือ ความต้องการที่จะให้ประชาชนได้อยู่อย่างมีความสุข เป็นธรรม และเท่าเทียมกันนั่นเอง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้